เชียงใหม่-คณะกรรมาธิการ อว. เยี่ยมชมโครงการ “Low Carbon Transformer ระบบจัดการ หม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้พลังงาน”

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัทเจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้าจำกัด ให้การต้อนรับ คณะกรรมาธิการ อว. เยี่ยมชมนวัตกรรมหม้อแปลง IoT และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage ด้วยโปรแกรม Energy Management System ของคนไทย

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 รศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ ผู้อำนวยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ให้การต้อนรับ นายนำลาภ เบ้าสุวรรณ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ อว. และ เลขานุการคณะอนุกรรมการ อว. พร้อมคณะกรรมาธิการ อว.ในโอกาสเยี่ยมชมนวัตกรรมหม้อแปลง IoT และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage ด้วยโปรแกรม Energy Management System ฝีมือของคนไทย ได้รับการ สนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA ภายใต้โครงการ “Low Carbon Transformer ระบบจัดการ หม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาด อย่างมั่นคง ” (Net Zero, Near Zero, Peak Demand และDemand Response)

ด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้ร่วมวิจัยและได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ดำเนินงานวิจัยหม้อ แปลง IoT และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage ด้วยโปรแกรม Energy Management System ภายใต้โครงการ “Low Carbon Transformer ระบบจัดการหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อรองรับพลังงานสะอาดอย่างมั่นคง Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response”

ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่าหม้อแปลงที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ที่กล่าวในข้างต้นตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงาน ในภาคอุตสาหกรรม Smart Factory, Smart Building ในด้าน Net Zero & Near Zero, Peak Demand และ Demand Response และการประหยัดพลังงาน โดยสามารถลดการใช้พลังงาน ลดตันทุนค่าไฟฟ้า และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมีระยะเวลาคืนทุนภายในเวลา 2-5 ปี ซึ่ง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคมประชาชนและผู้ประกอบการ ด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า

หม้อแปลง Low Carbon สามารถรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าที่สถานประกอบการต้องการให้คงที่ได้สม่ำเสมอ (220/380 โวลท์) การรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าของหม้อแปลงปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติ มีการทำงานของ 3 อุปกรณ์หลักๆ คือ 1.หม้อแปลงไฟฟ้า 2.EcoTAP-Control Voltage Tap Changer และ EcoTAP-On Load Tap Changer และ 3.ชุด IoT (Internat of Things Distribution Transformer)
โดยระบบบริหารจัดการด้านพลังงานของหม้อแปลงไฟฟ้า Low carbon ที่ต้องพัฒนาขึ้นมาให้ของโครงการนี้พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมหม้อแปลง Low Carbon ให้สามารถรองรับระบบสำรองพลังงานและรองรับแหล่งพลังงานสะอาด

โดยพัฒนาระบบควบคุม monitoring software / hardware ของระบบไฟฟ้าพ่วงด้วยระบบการสำรองพลังงานไฟฟ้า สามารถสื่อสารและตอบสนองคำสั่งการทำงานระหว่างหม้อแปลง Low Carbon ระบบสำรองพลังงาน แหล่งพลังงานสะอาดและรองรับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ให้สามารถตอบสนองคำสั่งการทำงานระหว่างกันได้ในระดับมิลลิวินาที (Millisecond) สามารถควบคุมการทำงานของทั้งระบบให้สามารถทำงานตอบสนองต่อความต้องการการใช้พลังงานในหลากหลายรูปแบบได้อย่างอัตโนมัติให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและภาระการใช้พลังงานไฟฟ้าในขณะนั้น ให้สามารถรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด (Cut Peak / Demand Respond), การบริหารจัดการการใช้พลังงานแบบ Near และ Net Energy Zero Building, ป้องกันหม้อแปลงไฟฟ้าขัดข้องอย่างฉับพลัน จากการอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (Fast Charge) ของเครื่องอัดประจุไฟฟ้า และลดการใช้พลังงาน ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) จากการผลิตไฟฟ้า ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

หลักการออกแบบ และทำงานของระบบ IoT Energy Management System (Energy Controller IDT.x) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของโครงการที่ได้พัฒนาและสร้างเป็นนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ จะติดตั้งระบบให้สื่อสารในการรับส่งข้อมูลด้านพลังงานกับหม้อแปลงไฟฟ้าโดยตรง แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และตัดสินใจในการสื่อสารรับส่งข้อมูล ผ่าน sensor เพื่อควบคุมการทำงาน กับระบบไฟฟ้าหลักของอาคาร ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน โดยจะมีระบบ IoT Weather Monitoring ร่วมด้วยในการประเมินและวิเคราะห์การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากระบบผลิตพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์

จากผลการประหยัดพลังงานไฟฟ้า มีการใช้พลังงานไฟฟ้าลดลง หลังจากลบตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ EV Charger และ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งมีผลเท่ากับ 9.01% คิดเป็น 26,601.82 kWh/year เป็นเงิน 106,407.28 บาทต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เท่ากับ 12.92 TonCo2/year

การทดสอบ Near Zero Energy คือ การทดสอบการการใช้ภาระโหลดไฟฟ้าของอาคารให้มีค่าใกล้เคียงเท่ากับศูนย์ ในการทดสอบการทำงานจะตั้งค่าระบบการทำงานของกำลังไฟฟ้าให้ไม่เกิน 15 kW เพื่อลดค่ากำลังไฟฟ้าสูงสุดลง โดยในช่วงระยะเวลาทดสอบการใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุดมีค่าอยู่ประมาณ -10-15 kW ซึ่งการใช้กำลังไฟฟ้าของอาคารถือว่าสามารถลดการใช้กำลังไฟฟ้าได้ใกล้เคียงเท่ากับศูนย์
การทดสอบ Net Zero Energy คือ การทดสอบการการใช้ภาระโหลดไฟฟ้าของอาคารให้มีค่าเท่ากับศูนย์ ในการทดสอบการทำงานจะตั้งค่าระบบการทำงานของกำลังไฟฟ้าให้ไม่เกิน (-10)-0 kW ในลดค่ากำลังไฟฟ้าสูงสุดลง โดยในช่วงระยะเวลาทดสอบการใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุดมีค่าอยู่ประมาณ (-20)-0 kW ซึ่งการใช้กำลังไฟฟ้าของอาคารถือว่าสามารถลดการใช้กำลังไฟฟ้าได้เท่ากับศูนย์

 

นภาพร/เชียงใหม่