(สกู๊ป) กมธ.ป.ป.ช.ลุยเหมืองทองอัคราสั่งแก้ปัญหาเร่งสื่อสารกับชาวบ้านก่อนเดินเครื่อง (ชมคลิป)

เหมืองทองอัครา ก่อนเดินเครื่องขุดหาแร่ทองคำ กมธ.ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่รับฟังปัญหารอบด้านเข้าใจผู้ประกอบการและชาวบ้านทั้งฝ่ายหนุนและฝ่านคัดค้านซักถามห่วงใยเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในวันที่ดำเนินการและหลังจากนี้อีก10 ปี ข้างหน้าหากหมดประทานบัตรจะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างไร ฝ่ายอัคราจัดข้อมูลนำเสนอแจงคุณภาพดิน น้ำ อากาศ ได้มาตรฐาน มีการตรวจทุกระยะต่อเนื่องอธิบายมีเงินกองทุนที่ชาวบ้านเข้าถึงนับร้อยล้านบาท คุยฟุ้งที่ผ่านมาจ่ายค่าภาคหลวงเข้ารัฐ 4,030 ล้านบาท หากได้เปิดมีเงินจ้างงานเดือนละ 20 ล้านบาท ชาวบ้านนับพันคนมีงานทำแน่นอน

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=q8p0D9SVoxU[/embedyt]

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ความคืบหน้าของเหมืองทองอัครา ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ที่เคยถูกรัฐบาลยุค คสช. โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาม ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา จากนั้นฝ่ายบริษัทคิงส์เกตได้เป็นโจทก์ร้องขอความเป็นธรรมไปยังอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและมีการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติข้อพิพาทกันเรื่องมา ซึ่งจนถึงขณะนี้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศก็ยังไม่ได้สรุป แต่ปรากฏว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลปัจจุบันได้ไฟเขียวให้เหมืองทองอัคราได้กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้งภายใต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์และกระแสคัดค้านจากกลุ่มผู้ต่อต้าน แต่ในมุมตรงข้ามชาวบ้านตัวจริงเสียงจริงกลุ่มใหญ่ 29 หมู่บ้าน 3 ตำบล ในเขตรัศมี 5 กม. ของเหมืองทองอัคราต่างแห่กันมาชูป้ายสนับสนุนเป็นกองเชียร์ให้เหมืองทองเปิดดำเนินกิจการมุ่งหวังชาวบ้านมีงานทำเศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น

ล่าสุดในช่วง 2 วันที่ผ่านมา นายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมาธิการ และคณะซึ่งประกอบด้วย นายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกคณะกรรมาธิการ , นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ เลขานุการคณะกรรมาธิการ, พันเอก เกียรติศักดิ์ ทรัพทย์มี , ว่าที่พันตำรวจเอก ปฏิญญา บุญผดุง , นายวชิร วงศ์อภัย , นายธกล ธนเลิศลาภ เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ ได้ร่วมกันลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด รวมถึงชาวบ้านกลุ่มเล็กที่เป็นฝ่ายคัดค้าน-ชาวบ้านกลุ่มใหญ่ที่เป็นฝ่ายสนับสนุน โดยได้ลงพื้นที่ดูโรงงานประกอบโลหกรรม พื้นที่ที่ได้รับประทานบัตร บ่อทิ้งกากแร่และรับฟังการบรรยายสรุปจาก นายสุรชาติ หมุนสมัย ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บ.อัคราฯ , นางสาวยุวธิดา พุกอ่อน หัวหน้างานฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และการพัฒนา บ.อัคราฯ

โดย นายสุรชาติ หมุนสมัย ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บ.อัคราฯ ได้ชี้แจงกับ กมธ.ป.ป.ช.ว่า การดำเนินการของเหมืองทองอัครามีมาตรฐานระดับโลก ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำและต่อเนื่องมีหลักฐานแสดงชัดเจน ส่วนเรื่องสารไซยาไนด์ในบ่อทิ้งกากแร่ที่ถูกกล่าวหาโจมตีนั้นยืนยันว่ามีแค่เพียง 0.3 ซึ่งถ้าเปลียบเทียบกับกาแฟ 1 แก้ว ก็จะมีสารไซยาไนด์ปนอยู่ถึง 6 PPM นอกจากนี้มาตรฐานป้องกันการรั่วซึมของบ่อทิ้งกากแร่บ่อที่ 1 -2 ก็มีบ่อสังเกตการณ์เป็นบ่อน้ำตื้นลึก15 เมตร บ่อน้ำลึก ลึก 60 เมตร อีก 40 บ่อ เจาะคู่กันห่าง 5 เมตร ในแต่ละจุด ดังนั้นหากมีน้ำจากบ่อทิ้งกากแร่รั่วซึมก็จะต้องไหลเข้าสู่บ่อดัก 40 บ่อ นี้ก่อน ซึ่งตั้งแต่ดำเนินกิจการมาจยถึงปี 64 ในบ่อเหล่านี้ไม่เคยตรวจเจอสารไซยาไนด์เลย ในส่วนของด้านเศรษฐกิจ นายสุรชาติ ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บ.อัคราฯ ชี้แจงให้ กมธ.ว่า อัคราฯ จ่ายค่าไฟฟ้า 40 ล้านบาท/เดือน , ซื้อแก๊ส-ซื้อน้ำมัน 20 ล้านบาท/เดือน , จ่ายเงินเป็นค่าจ้างเงินเดือนพนักงานในช่วงดำเนินกิจการ 20ล้านบาท/เดือน ,จ่ายค่าภาคหลวงตั้งแต่ มิ.ย. 44- มี.ค. 59 รวมเป็นเงิน 4,030 ล้านบาท

นอกจากนี้ นางสาวยุวธิดา พุกอ่อน หัวหน้างานฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และการพัฒนาบริษัอัคราฯ ก็ชี้แจงกับ กมธ.ว่า เหมืองทองอัครามีกองทุนที่ชุมชนจะได้รับประโยชน์โดยตรงก่อนที่เหมืองทองอัคราฯจะปิดกิจการลง ประกอบด้วย กองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต 85 ล้านบาท กำกับดูแลโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) , กองทุนพัฒนาท้องถิ่นมีเงิน 60 ล้านบาท เงินก้อนนี้ในช่วงปี 60-64 ชาวบ้าน 29 หมู่บ้าน 3 ตำบลรอบเหมืองทองอัคราทำเวทีประชาคมขอใช้เงินดังกล่าวใน 3 รอบกิจกรรมตกถึงมือชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว , กองทุนอัคราพัฒนาชุมชนมีเงิน 90 ล้าน ซึ่งเป็นการดำเนิตามข้อตกลงแนบท้ายประทานบัตร ซึ่งชุมชนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้ คือ ชาวบ้านตำบลเขาเจ็ดลูก-ตำบลท้ายดง , กองทุนพัฒนาหมู่บ้านที่เกิดจากการขยายโรงงานประกอบโลหกรรม โรงที่ 2 อัคราส่งเงินเข้ากองทุนในช่วงปี 55-60 ให้กับหมู่ 8 บ้านนิคม , หมู่ 3 บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นแต่เป็นส่วนที่ส่งถึงมือชาวบ้านที่อยู่รอบเหมืองทองอัคราดังกล่าว

นายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมาธิการ ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้พบเห็นพบเจอส่วนราชการระดับจังหวัด-ระดับท้องถิ่น-พนักงานเหมืองทองอัครา-ชาวบ้านฝ่ายสนับสนุน-ชาวบ้านฝ่ายคัดค้านที่ให้ข้อมูลหลากหลาย แต่ขณนี้อัคราได้ประทานบัตร 4 แปลง จึงต้องมาดูข้อมูลเชิงลึกและได้ให้คำแนะนำว่าถ้าอัคราฯเปิดดำเนินกิจการความต้องไปทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้ดีอย่าให้ใครเดือดร้อน กมธ.ป.ป.ช.ยืนยันในความเป็นกลาง เข้าใจและเห็นใจในทุกฝ่ายแต่ทุกอย่างต้องยึดความสุขของประชาชนและผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับเป็นหลัก


นายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกคณะกรรมาธิการ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ก็ได้แสดงความคิดเห็นและสัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าการลงพื้นที่ในครั้งนี้มาดูตั้งแต่เรื่องการขออาชาบัตรพิเศษ รับฟังความคิดเห็นรอบด้านในทุกมิติเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ข้อยุติ ซึ่งเรื่องราวต่างๆมีมากมายที่รัฐบาลต้องดูแลและให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการแก้ไขเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบรวมถึงวิเคราะห์มองว่าค่าภาคหลวงที่รัฐได้รับ 10-12% จพตุ้มต่าไหมกับการสูญเสียทรัพยากรของชาติ รวมถึงผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้นในวันนี้และอีก 10 ปีข้างหน้า คือถึงปี 2574 ที่เหมืองทองอัคราได้รับการต่อประทานบัตร

แต่เรื่องปัญหาระดับโลกคือการที่บริษัทคิงส์เกตฟ้องรัฐบาลไทยกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้นเรื่องยังคงค้างการพิจารณา แต่ทำไมรัฐบาลไทยกลับไปต่อประทานบัตรให้กับเหมืองทองอัครา ซึ่งเป็นข้อปัญหาในทางกฏหมายที่จะต้องตรวจสอบกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับการตรวจสอบเหมืองทองอัครายังไม่จบและยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้ เนื่องจาก กมธ.ป.ป.ช. คณะดังกล่าวกำลังรวบรวมเอกสารและจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอดีต-ปัจจุบัน ให้เข้าชี้แจงที่คณะ กมธ.ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎรต่อไปอีกด้วย

สิทธิพจน์ พิจิตร