กลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่าง ไทย – เมียนมา ในระดับคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC)
กลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่าง ไทย – เมียนมา ในระดับคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC)
     กลไกความมั่นคงชายแดนไทย – เมียนมา ในส่วนที่กองทัพรับผิดชอบประกอบด้วยคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) เกิดขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วย การจัดตั้งคณะกรรมการ RBC ลง 9 เมษายน 2533 โดยจะเห็นได้ว่ากลไกความมั่นคงชายแดนไทย – เมียนมา ที่มีอยู่ในปัจจุบันมิได้ มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความมั่นคงทางทหารเท่านั้น ยังคงรวมไปถึงการเสริมสร้าง ความร่วมมือไทย – เมียนมา ในด้านการค้าชายแดน การท่องเที่ยว การศึกษา การบรรเทาสาธารณภัย และด้านอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่องานการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ตามพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมา ซึ่งต้องมีภาครัฐ และเอกชน ของทั้ง 2 ประเทศ เข้าร่วมดำเนินการด้วย
 
     คณะกรรมการ RBC ในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 ประกอบด้วย แม่ทัพภาคที่ 3, ผู้บังคับหน่วยทหาร, ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือที่ติดกับชายแดนไทย – เมียนมา และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ ในการปรึกษาหารือถึงมาตรการที่อาจจำเป็นต่อการแก้ปัญหาความมั่นคงร่วมกัน และปัญหาเฉพาะอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นบริเวณชายแดน ตลอดจนรับผิดชอบให้มีการปฏิบัติมาตรการ โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ในการประสานงานและควบคุมดูแลให้บังเกิดผลของการปฏิบัติ
 
     ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค RBC (ไทย – เมียนมา) มาแล้ว 36 ครั้ง โดยการประชุมครั้งล่าสุด ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย โดยมี พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 (ฝ่ายไทย) และ พลโท ยุ้น วิน ส่วย ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษที่ 4 (ฝ่ายเมียนมา) เป็นประธานร่วม ทั้งสองฝ่ายได้หารือในความร่วมมือที่สำคัญหลายประเด็น อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำของทั้งสองกองทัพ ความร่วมมือในการป้องกันอาชญากรรมบริเวณพื้นที่ชายแดน ความร่วมมือในการป้องกันการค้ามนุษย์และลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย การเปิดจุดผ่านแดน ความร่วมมือในโครงการหมู่บ้านคู่ขนานตามแนวชายแดน การก่อความไม่สงบบริเวณชายแดน การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น
 
     จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 3 มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมทั้งบูรณาการศักยภาพทางการทหารในทุกๆ ด้านของกองทัพบก เพื่อปกป้อง และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตลอดไป
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว