สบส. จับมือ AIS ร่วมหนุนเสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ และทักษะดิจิทัลแก่ อสม.

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ส่งเสริมการเรียนรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ผ่านแอปพลิเคชัน สมาร์ท อสม. (Smart อสม.) ด้วยหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” สร้างความตระหนักรู้ เกิดการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยทั้งตนเอง และชุมชน

 


ดร.นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงกันอย่างแพร่หลายได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟนนั้น ย่อมมีความสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะระบบ (Hacking) การหลอกลวง หรือการขู่กรรโชก ซึ่งภัยคุกคามเหล่านี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อทั้งบุคคล และองค์กรแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความเสียหายทางการเงิน ข้อมูลรั่วไหล และความเสียหายต่อชื่อเสียงอีกด้วย การสร้างเสริม “สุขภาวะดิจิทัล” ให้ อสม. ซึ่งเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามทางไซเบอร์แก่ประชาชน ดังนั้น กรม สบส. จึงร่วมกับบริษัท AIS เดินหน้าส่งเสริมสุขภาวะดิจิทัลแก่พี่น้อง อสม. โดยใช้เครื่องมือเช็คภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์แบบรายบุคคล ผ่านแอปพลิเคชัน สมาร์ท อสม. ในชื่อหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล ให้ อสม.มีทักษะพร้อมสำหรับยุคดิจิทัล ตระหนักรู้เท่าทัน ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย และมีความเข้าใจในการร่วมป้องกันภัยทางไซเบอร์แก่สมาชิกในครอบครัวและชุมชน

ดร.นายแพทย์อดิสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สื่อการเรียนรู้หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” สำหรับ อสม. จะมีเนื้อหา 4 คอร์ส ได้แก่ 1.สุขภาวะดิจิทัล 2.การจัดการความเป็นส่วนตัว 3.การจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล และ 4.การจัดการร่องรอยทางไซเบอร์ ใช้เวลาศึกษา รวมเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อผ่านการอบรมครบทั้ง 4 คอร์สแล้ว อสม.จะได้รับใบรับรองในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล (E-Certificate) ที่มีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Signature) โดย ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. และนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท AIS ทั้งนี้ กรม สบส. ได้วางเป้าหมายร่วมกับบริษัท AIS ในการขยายผลการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้กับเครือข่าย อสม. ทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1.09 ล้านคน นำไปส่งต่อวิธีป้องกันภัย เสริมสร้างความปลอดภัยจากการใช้งานบนโลกออนไลน์ให้ตัวเอง และเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เจนกิจ นัดไธสง สวทท.68 รายงาน