ลำปาง-ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง เข้าร่วมประกวด “ตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ปี 2568

ลำปาง-ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง เข้าร่วมประกวด “ตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ปี 2568

วันที่ 20 มิถุนายน 2568 ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการประกวด “ตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี พ.ศ. 2568” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ชุมชนทั่วประเทศนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินงานของตำบลพิชัยมีจุดเด่นในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนึ่งในหมู่บ้านต้นแบบสำคัญของตำบลพิชัย คือ บ้านไร่ศิลาทอง หมู่ที่ 10 ที่ได้แสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชนในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน

ภายใต้แนวคิด “อยู่เย็น เป็นสุข” ทุกครัวเรือนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆอย่างเข้มแข็ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยนายธนารัฐ สายเทพ นายอำเภอเมืองลำปาง มอบหมาย ให้นางพรรณเพ็ญ จำลองปั้น ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง กล่าวต้อนรับคณะกรรมการฯ โดยมี นายวิทยา ชุมภูคำ พัฒนาการจังหวัดลำปาง คณะกรรมการฯ ร่วมการคัดสรรกิจกรรมฯ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการฯ ชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง ร่วมต้อนรับ ณ วัดบ้านไร่ศิลาทอง หมู่ที่ 10 ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

บ้านไร่ศิลาทองมีระบบการบริหารจัดการชุมชนที่ดีเยี่ยม มีระบบเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เช่น การออมทรัพย์เพื่อการผลิต การเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลผลิต และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภายในชุมชน จากความโดดเด่นในการดำเนินงาน บ้านไร่ศิลาทองจึงได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนและตรวจติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

การเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของตำบลพิชัยในการเป็นต้นแบบของการพัฒนาแบบองค์รวม ที่สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้กับประชาชนในชุมชนตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับตำบลอื่น ๆ ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภาพรวมของตำบลพิชัยถือเป็นแบบอย่างของตำบลที่มีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการชุมชนโดยใช้ศักยภาพในพื้นที่ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด

ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน