“อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.”วิเคราะห์วิกฤตงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง19ปีสร้างหนี้สาธารณะมหาศาลกระทบอนาคตประเทศและประชาชน

“อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.”วิเคราะห์วิกฤตงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง19ปีสร้างหนี้สาธารณะมหาศาลกระทบอนาคตประเทศและประชาชน
นายอลงกรณ์ พลบุตร
ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีโพสต์เฟสบุ้ควันนี้เรื่อง”วิเคราะห์งบประมาณขาดดุล 19 ปี
: สาเหตุและแนวทางแก้ไข“เป็นบทความวิเคราะห์เจาะลึกถึงผลกระทบและสาเหตุของปัญหางบประมาณขาดดุลเรื้อรังยาวนานต่อเนื่องถึง19ปีพร้อมกับเสนอแนวทางแก้ไขไว้อย่างน่าสนใจ ดังข้อความต่อไปนี้
…“วิเคราะห์งบประมาณขาดดุล 19 ปี
: สาเหตุและแนวทางแก้ไข
โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร
ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์
ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
21 พฤษภาคม 2568
ใกล้จะถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของทุกปีในระยะ10กว่าปีหลังมานี้จะมีประเด็นข้อเสนอต่อทุกรัฐบาลให้พิจารณาแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณเรื้อรังแต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
สำหรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569ซึ่งเป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุลอีกปีหนึ่งแต่ปีนี้วงเงินขาดดุลงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ยิ่งทำให้เกิดข้อกังวลมากกว่าทุกครั้ง เนื่องจากประเทศไทยอาจเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะและสูญเสียศักยภาพการเติบโตในระยะยาวเพราะต้องกู้เงินมาปิดหีบงบประมาณต่อเนื่องเป็นปีที่19
1.ทำไมต้องเร่งแก้ไขปัญหางบขาดดุล
ประเทศไทยใช้งบประมาณแบบขาดดุลนับตั้งแต่ปี 2550 โดยมีผลกระทบที่สำคัญ ดังนี้
1. การขาดดุลต่อเนื่อง หนี้สาธารณะพุ่ง
ร่างพรบ.งบประมาณปี 2569 ขาดดุลงบประมาณ 865,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับขาดดุลสูงสุดในรอบ 19 ปี
ผลคือทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งจาก 40% ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็น 66.93% ในปี 2568 และคาดว่าจะแตะเพดาน 70% ภายใน 2 ปี หากเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่า 3.5%
ยิ่งกว่านั้นภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะอาจเกิน 10% ของรายได้สุทธิภายใน 2 ปี ซึ่งในงบปี69รายจ่ายชำระหนี้ปรากฎว่าเป็นการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น
2.สาเหตุสำคัญของการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง
2.1 โครงสร้างรายจ่ายภาครัฐ งบประจำสูงเกินไป งบลงทุนน้อยเกินไป หนี้สาธารณะเพิ่มเร็วเกินไป
งบรายจ่ายประจำสูงถึง70%โดยเฉพาะในส่วนเงินเดือนข้าราชการและสวัสดิการมีสัดส่วนถึง 23%ของงบประมาณปี 2568 ขณะที่งบลงทุนเหลือเพียง 24.2%และ ลดลงเหลือ 22.7 %ในงบปี2569
ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินชดเชยขาดดุลเพิ่ม ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 40% ของ GDP ในช่วงโควิด-19 เป็น 66.93% ในปี 2568 และใกล้แตะเพดาน 70% ในปี 2569(เกือบ14ล้านล้านบาท)
2.2นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและประชานิยม
มาตรการช็อปช่วยชาติและบัตรคนจนสร้างการบริโภคชั่วคราว แต่ไม่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาฐานการผลิต
รวมทั้งการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้เกิดหนี้เรื้อรังในภาคเกษตรกรรม และขาดความยั่งยืน
2.3ระบบภาษีไม่มีประสิทธิภาพ
ฐานภาษีแคบ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้เพียง 16% ของ GDP เนื่องจากแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคนไม่เข้าสู่ระบบ
การหลีกเลี่ยงภาษีโดยธุรกิจขนาดใหญ่ใช้ช่องโหว่กฎหมายลดหย่อนภาษี ขณะที่ SMEs ถูกเก็บภาษีเต็มอัตรา
2.4ผลกระทบจากวิกฤตภายนอกและการเมือง
โควิด-19ทำให้รายได้ท่องเที่ยวหายไปกว่า270,000 ล้านบาทในปี 2565 ขณะที่ต้องใช้งบประมาณฉุกเฉิน 1.5 ล้านล้านบาท
การเมืองแบบ “ขาดดุลนิยม”นักการเมืองใช้นโยบายขาดดุลเพื่อเพิ่มคะแนนนิยม แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วก็ยังไม่ลดการใช้จ่าย
2.5ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
การทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างประมูลงานของรัฐทำให้ต้นทุนโครงการสูงเกินจริง ต้องกู้เงินเพิ่ม
การจัดสรรงบประมาณแบบเลือกปฏิบัติเน้นโครงการที่สร้างผลตอบแทนทางการเมือง แทนความจำเป็นทางเศรษฐกิจ
การรั่วไหลของงบประมาณมีข้อวิจารณ์ว่า 40% ของงบประมาณถูกจัดสรรไปยังกลุ่มผลประโยชน์ แทนที่จะใช้พัฒนาประเทศ
2.6 ความท้าทายใหม่เพิ่มภาระงบประมาณ
สังคมสูงวัยจะทำให้ค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุคาดพุ่งเป็น 35% ของงบประมาณภายในปี 2583หรือไม่เกิน14ปีข้างหน้า รัฐบาลต้องออกแบบระบบสวัสดิการแบบยั่งยืน เช่น สร้างอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพลดภาระการให้เงินอุดหนุน
นอกจากนี้สงครามการค้า นโยบายทรัมป์ 2.0และการแบ่งขั้วเศรษฐกิจในมิติภูมิเศรษฐศาสตร์รวมถึงการสู้รบและความตึงเครียดในหลายภูมิภาคในมิติภูมิรัฐศาสตร์ตลอดจนมิติการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแบบสุดขั้วล้านเป็นปัจจัยใหม่ที่จะเพิ่มภาระของงบประมาณทั้งสิ้น
3.แนวทางการแก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง
1.ลดรายจ่ายภาครัฐ
โดยปฏิรูปภาครัฐลดขนาดภาครัฐและยกเลิกหรือควบรวมหน่วยงานรัฐพาณิชย์ที่ขาดทุนไร้ประสิทธิภาพ
2.เพิ่มรายได้งบประมาณ
โดยการปฏิรูประบบภาษีและขยายฐานภาษีเพิ่มภาษีทรัพย์สินภาษีมรดกและภาษีลาภลอยพร้อมกับป้องกันการรั่วไหลและการทุจริตภาษีอย่างเด็ดขาด
3.เพิ่มรายได้ประเทศ
เพิ่มรายได้ภาครัฐทุกประเภทและเพิ่มรายได้จากการส่งออก
4.ปฏิรูประบบงบประมาณโดยใช้ระบบงบประมาณฐานศูนย์( Zero-Based Budgeting)เริ่มจัดสรรงบประมาณจากศูนย์ทุกปี ตัดโครงการไม่จำเป็น
5.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณอย่างจริงจัง เพิ่มความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณโดยใช้มาตรฐาน OECD ในการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณแบบ Real-Time
ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (Data Visualization) เพื่อตรวจสอบการรั่วไหล
สรุป
การขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องเกือบ2ทศวรรษเป็นปัญหาที่สะสมมานานจากนโยบายระยะสั้น การพึ่งพาการกู้เงิน การขาดการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจโตต่ำและโตช้า
แม้รัฐบาลจะมองว่าฐานะการคลังยังแข็งแกร่งจากทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ความเสี่ยงจากการขาดดุลเรื้อรังและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบรุนแรงในระยะยาวต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการคลังของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน.
เกี่ยวกับผู้เขียน:
นายอลงกรณ์ พลบุตร
ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์
ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และอดีต ส.ส.6สมัยและอดีตกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี…”