“อลงกรณ์-ประชาธิปัตย์”วิเคราะห์งบประมาณ 2569 ชี้งบประจำลดลงส่งสัญญาณบวกแต่กังวลงบลงทุนหดมากกว่า ห่วงผลกระทบ“ทรัมป์2.0”ทำรายได้ประเทศลด แนะทำแผนงบสมดุลควรเริ่มระบบงบประมาณฐานศูนย์ปี2570

“อลงกรณ์-ประชาธิปัตย์”วิเคราะห์งบประมาณ 2569 ชี้งบประจำลดลงส่งสัญญาณบวกแต่กังวลงบลงทุนหดมากกว่า ห่วงผลกระทบ“ทรัมป์2.0”ทำรายได้ประเทศลด แนะทำแผนงบสมดุลควรเริ่มระบบงบประมาณฐานศูนย์ปี2570

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.และอดีตกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภาผู้แทนราษฎร
โพสต์เฟสบุ้ควันนี้เรื่อง “วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 : งบประมาณในภาวะผันผวน“โดยชี้ว่าเป็นงบประมาณที่มีเปอร์เซ็นของงบประจำลดลงเล็กน้อย1%ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นแนวโน้มที่ดีแต่งบลงทุนลดลงมากกว่าคือ 7.3 %ในขณะที่งบชำระคืนเงินกู้เพิ่มขึ้น0.7%เป็นการชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นและยังไม่ปรากฏว่าแนวทางว่าจะเริ่มจัดทำงบประมาณสมดุลอย่างไรเมื่อใดซึ่งต้องรอฟังคำแถลงนโยบายงบประมาณของนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

โดยนายอลงกรณ์เขียนบทความ“วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 : งบประมาณในภาวะผันผวน“ ดังนี้

“บทวิเคราะห์นี้จะกล่าวถึงโครงสร้างของงบประมาณปี2569ในด้านงบประจำงบลงทุนงบชำระหนี้เงินกู้กับการเตรียมงบประมาณรับมือนโยบาย“ทรัมป์ 2.0”และปัจจัยเสี่ยงโดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ไทม์ไลน์ของกระบวนการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 มีกำหนดที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 20 พ.ค 2568 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 1 วันที่ 28–30 พ.ค. 2568 และวาระที่ 2-3 วันที่ 13–15 ส.ค. 68 (เป็นกำหนดการเท่าที่ยืนยันขณะนี้)
ประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 มีดังนี้
1. โครงสร้างและวงเงินงบประมาณวงเงินรวม 3.78 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27,900 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น
1.1รายจ่ายประจำ 2.65 ล้านล้านบาท (ลดลง 1%)
1.2รายจ่ายลงทุน 864,077 ล้านบาท (ลดลง 7.3%)
1.3รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 151,200 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.7%)
1.4งบขาดดุล 860,000 ล้านบาท
ภายใต้โครงสร้างงบประมาณเช่นนี้มีข้อสังเกตที่ควรไตร่ตรอง
1.การลดรายจ่ายลงทุนอาจกระทบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และพลังงาน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤต
2.การเพิ่มวงเงินชำระหนี้สะท้อนภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นซึ่งต้องจับตาการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงทางการคลังระยะยาว
3.การเตรียมงบประมาณรับมือวิกฤต เศรษฐกิจจากผลกระทบของนโยบาย “ทรัมป์ 2.0”
จากกรณีสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% ส่งผลให้ภาคส่งออกและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนัก โดยคาดว่า GDP จะปรับลดเหลือ 2.1% หรือต่ำกว่า 2.0%ทั้งนี้ขึ้นกับผลการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯในเร็วๆนี้
ซึ่งเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะใช้กลไกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณปี2569ของสภาฯ ปรับโอนงบประมาณจากรายการไม่จำเป็นเข้างบกลาง 25,000 ล้านบาท(ตามที่ปรากฏเป็นข่าว)เพื่อรับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามการไม่ปรับแก้ในชั้น ครม. อาจทำให้ขาดรายละเอียดแผนรองรับที่ชัดเจน เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐ
และอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่างบกลางที่เพิ่มขึ้น25,000 ล้านบาทจะเป็นการ “ตีเช็คเปล่า“ไม่มีแผนและรายละเอียดในการตรวจสอบโดยรัฐสภาระหว่างการพิจารณางบประมาณซึ่งรัฐบาลและสำนักงบประมาณควรสร้างความชัดเจนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 เป็นงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเป็นงบประมาณในภาวะผันผวนซึ่งมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะได้แก่
1.งบกลาง
การจัดสรรงบกลางเพื่อรับมือวิกฤตยังคลุมเครือสามารถแก้ไขได้โดยเพิ่มความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณแบบ Real-time ผ่านแพลตฟอร์ม Open Data
2. งบประจำ
รายจ่ายงบประจำลดลงแม้เพียง1%ก็ถือเป็นสัญญาณบวกควรดำเนินการต่อในปีงบประมาณถัดไปอย่างต่อเนื่อง
3.งบลงทุน
การลดลงของงบลงทุนอาจกระทบการเติบโตระยะยาว
4.งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าควรชะลอไว้ก่อน
ได้แก่โครงการลงทุนที่ไม่เร่งด่วน
เช่น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการทันทีหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจเพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน
และโครงการที่ยังไม่มีแผนรองรับการใช้งานอย่างชัดเจน หรือโครงการที่ใช้งบประมาณสูงแต่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำ
5.หนี้สาธารณะ
หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ปี 2564 มีสัดส่วน62.44% ของ GDP และปี 2569 จะเพิ่มใกล้แตะเพดาน 70 % ของ GDP ทั้งนี้หนี้สาธารณะรวมเมื่อถึงปี 2569 คาดว่าจะสูงถึง 13.6 ล้านล้านบาท เป็นภาระหนักของประเทศเสมือนโคลนติดล้อ
6.ความเสี่ยงของประเทศ
ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเช่น ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิอาการเปลี่ยนแปลง และภูมิเศรษฐศาสตร์ เช่นสงครามการค้า ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนผันแปรเร็วและแรงมากขึ้นอาจทำให้รายได้ประเทศจากภาษีและการพาณิชย์ลดลงและกดดันให้ต้องกู้หนี้สาธารณะเพิ่มจึงควรเตรียมงบประมาณให้พร้อมสำหรับการรับมือและปรับตัว
7.ความยั่งยืนของงบประมาณและการคลัง
7.1ควรมีแนวทางการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในคำแถลงนโยบายงบประมาณต่อสภาฯ.
7.2ตัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่คุ้มค่า
7.3ปรับลดงบประจำและเพิ่มงบลงทุน
7.4ควรเริ่มเตรียมแผนการการปฏิรูประบบงบประมาณแบบใหม่โดยจัดทำงบประมาณฐานศูนย์(Zero based budgeting)ถ้ามีความพร้อมควรเริ่มในปีงบประมาณ 2570

หากรัฐบาลสามารถบริหารงบประมาณในภาวะผันผวนด้วยความโปร่งใส ใช้เทคโนโลยีและเพิ่มการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่าภาษีของประชาชนมากขึ้น.”

ผู้เขียน :
นายอลงกรณ์ พลบุตร
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์และประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. อดีต ส.ส.6 สมัย
อดีตกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์.
อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ.