ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวง อว. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวง อว. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
วันพุธที่ 14 พฤษภาคม 2568 นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานอาณาจักรแห่งรสชาติ: จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก Realm of Flavor: Inspiring the Future of Global Tourism and Hospitality และมอบนโยบาย การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ
ในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้บริหาร และผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม Hall 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การท่องเที่ยวและบริการมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการมีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายและน่าสนใจ
ดังนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ตลอดจนช่วยกระจายรายได้ สร้างงาน และสร้างโอกาสให้กับประชาชนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจที่พัก ขนส่ง หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ การท่องเที่ยวและบริการยังมีส่วนช่วยส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นและเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจอีกด้วย
อาหารไทยเป็นหนึ่งใน “Soft Power” สำคัญที่มีบทบาทอย่างมากต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยที่สร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ยากจะลืมให้แก่นักท่องเที่ยวไปทั่วโลกประเทศไทยมีความหลากหลายของอาหารในแต่ละภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ที่มีรสชาติและวัตถุดิบเฉพาะตัวที่ กลายเป็นเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดใจและมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยง รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การเรียนทำอาหารไทย การเยี่ยมชมตลาดสด หรือการเข้าร่วมเทศกาลอาหาร ซึ่งล้วนเป็นประสบการณ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้เป็นอย่างดี
การจัดงาน “อาณาจักรแห่งรสชาติ: จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก” ในครั้งนี้ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ที่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ทั้งในระดับชาติและระดับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นฐาน ที่ผสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างภาคีเครือข่ายหน่วยงานทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำให้สามารถมองเห็นถึงการต่อยอด โอกาส และความเชื่อมโยง กับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ผ่านความเชี่ยวชาญด้านอาหารของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีจุดเริ่มต้นมาจากการก่อตั้งเป็นโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือนแห่งแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2477 และได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 80 ปี จนกระทั่งกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในปัจจุบันที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศในอัตลักษณ์ 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร การศึกษาปฐมวัยอุตสาหกรรมการบริการ การพยาบาลและสุขภาวะ และกฎหมายและการเมือง ตลอดจนการมุ่งพัฒนาเชิงพื้นให้บริการตามความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรี นครนายก ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ และลำปาง
การจัดงาน “อาณาจักรแห่งรสชาติ: จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก” ในครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่เกิดจากการบูรณาการอัตลักษณ์ที่เข้มแข็งใน 2 ด้านเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ อัตลักษณ์ด้านอาหาร และอัตลักษณ์อุตสาหกรรมการบริการ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สำคัญที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการในมิติของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายที่มีอาหารและเครื่องดื่มท้องถิ่น เพื่อสัมผัสวัฒนธรรมการกิน การดื่ม ตลอดจนการผลิตที่ร้อยเรียงมาเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
หวังว่าการจัดงานในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออันแน่นแฟ้นระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานอาณาจักรแห่งรสชาติ: จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก เกิดขึ้นจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ความร่วมมือด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ตลอดจนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานเขตดุสิตสำนักงานเขตบางพลัด สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) และ Hub of Talents in Gastronomy Tourism
โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการจัดงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นและหลากหลายของอาหารไทย อันเป็นรากฐานที่สำคัญของการท่องเที่ยวและการบริการ เพื่อสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ระหว่างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและภาคีเครือข่าย
เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและภาคีเครือข่ายในด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ตลอดจนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจากวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังที่กล่าวมาข้างต้น
จึงได้แบ่งการจัดกิจกรรมภายในงานออกเป็น 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1. การเสวนา “Flavours of Experience: Serving Thailand’s New Tourism and Hospitality” โดยวิทยากรจาก มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
2. การจัดนิทรรศการ “การท่องเที่ยวด้านอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น” โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและภาคีเครือข่ายจำนวน 11 หน่วยงาน
3. การจัดนิทรรศการ Street Food โดยนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและบริการ และศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
4. การจัดนิทรรศการ “อาณาจักรแห่งรส: การบรรจบของนวัตกรรมและรากวัฒนธรรม” นำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของสำรับอาหารไทย