อุบลฯ งามอีหลี !!! อาชีวะอุบลฯ โชว์พราวศิลปะร่ายรำ งดงามสืบสานตำนานเทียนเมืองดอกบัว 123 ปี ผ่านชุดการแสดง ออนซอนแดนธรรม งามล่ำเมือง 4 แสง

อุบลฯ งามอีหลี !!! อาชีวะอุบลฯ โชว์พราวศิลปะร่ายรำ งดงามสืบสานตำนานเทียนเมืองดอกบัว 123 ปี ผ่านชุดการแสดง ออนซอนแดนธรรม งามล่ำเมือง 4 แสง

 

วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นำโดยนางสาวลฎาภา แสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี มอบหมายให้นายลือชัย ทาทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร นายสุรศักดิ์ คำมั่น รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ นางอรสา แถบเกิด ครูชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา นายทิวัตถ์ วงศ์อุทุม ครูผู้ฝึกซ้อม นำนักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี แสดงศิลปะร่ายรำประกอบขบวนแห่เทียนพรรษา เนื่องในประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2567 “ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง

 

ทั้งนี้ขบวนรำวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้แสดงนำขบวนต้นเทียนของวัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ลำดับที่ 10 ซึ่งเป็นขบวนแห่ต้นเทียนประเภทแกะสลัก ขนาดกลาง ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปี 2566 ผ่านสายตาประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก ทั้งที่ชมภายในบริเวณงานและรับชมผ่านระบบการถ่ายทอดสดออนไลน์ในช่องทางการสื่อสารต่างๆไปทั่วโลก โดยปีนี้วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นำเสนอผลงานการแสดงชื่อชุด ออนซอนแดนธรรม งามล่ำเมือง 4 แสง ใช้ผู้แสดงจำนวน 100 คน เป็นการบอกเล่าเรื่องราวผ่านกลอนลำ ด้วยจังหวะท่วงทำนองสนุกสนาน มีเนื้อหาที่สื่อถึงที่มาทำเทียนพรรษาของเมืองอุบล วิวัฒนาการของการทำเทียนพรรษา

   

และการเชิญชมเทียนพรรษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของราชธานีศรีวนาลัย ราชธานีแห่งอีสาน โดยแบ่งออกเป็น 5 ท่วงทำนอง ได้แก่ ทำนองลำกลอน ทำนองลำทางสั้น ทำนองลำวงลาว ทำนองลำตังหวายบ้านเจียด และทำนองเต้ย 3 จังหวะ ผสานกับท่าฟ้อนรำที่งดงาม อ่อนช้อยในท่ารำแม่บทอีสาน และท่ารำประยุกต์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน ที่มีความสนุกสนาน ครื้นเครง ผ่านท่วงทำนองขับร้องผสานเสียงดนตรี ลีลาการฟ้อนรำที่สื่อถึงความรัก ความสามัคคี การร่วมแรงร่วมใจ และผูกมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน จึงนับเป็นความภาคภูมิใจที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามอันควรค่าแก่การอนุรักษ์ สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น ให้คงอยู่คู่เมืองอุบลราชธานี ราชธานีแห่งอีสานสืบไป