กาฬสินธุ์ม่วนซื่นโฮแซวชาวนาจารย์จัดขบวนแห่เซิ้งบุญบั้งไฟสืบสานประเพณีอีสาน

ชาวตำบลนาจารย์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกันจัดขบวนแห่เซิ้งบุญเดือนหกหรือบั้งไฟ ม่วนซื่นโฮแซว สืบสานประเพณีอีสาน ด้าน“วิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทยฝากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไว้ให้อยู่สืบไป

 

ที่สนามโรงเรียนชุมชนนาจารย์วิทยา ต.นาจารย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย เป็นประธานเปิดงานสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟของชาวตำบลนาจารย์ ประจำปี 2567 โดยมีนางเนาวรัตน์ คูสกุลรัตน์ ส.อบจ.อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เขต 3 นางสาวผกาสรณ์ ศรีสว่างวงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลนาจารย์ ส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารสถานศึกษา ประชาชน และเยาวชนร่วมกิจกรรมกำนวนมาก

 

โดยมีการจัดริ้วขบวนแห่บั้งไฟพื้นบ้าน พร้อมขบวนนางรำ ขบวนผาแดงนางไอ่ ขบวนแฟนตาซีแสดงวิถีชุมชน ของผู้สูงอายุ ประชาชน และเยาวชนของทุกหมู่บ้านแห่เซิ้งตามจังหวะเพลงไปรอบๆบริเวณจัดงาน ซึ่งสร้างความสนุกสนาน เรียกสีสัน เสียงหัวเราะเฮฮาให้กับผู้ร่วมงาน และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ในช่วงพิธีเปิดมีการแสดงฟ้อนรำพร้อมกันทุกขบวน ซึ่งนายวิรัช พิมพะนิตย์ หรือ ส.ส.หมู ขวัญใจพี่น้องชาวตำบลนาจารย์ประธานในพิธี และนางสาวผกาสรณ์ ศรีสว่างวงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลนาจารย์ ยังได้ร่วมฟ้อนกับนางรำที่ทำการแสดง ซึ่งสร้างความม่วนซื่นโฮแซวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นประเพณีโบราณเก่าแก่ของชาวอีสาน ที่ปัจจุบันหาดูยาก และนับวันจะเลือนหาย

 

นางสาวผกาสรณ์ ศรีสว่างวงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลนาจารย์ กล่าวว่า ประเพณีบุญเดือนหกเป็นประเพณีสมัยโบราณอย่างหนึ่งที่ชาวอีสานมีมานานนั่นคือ “ประเพณีบุญบั้งไฟ” ซึ่งเป็นประเพณีความเชื่อที่สำคัญของคนอีสาน นิยมทำกันในเดือนหกของทุกปี ซึ่งเป็นสัญญาณการขอให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวนาจะได้เข้าสู่ฤดูกาลทำนาอีกครั้ง พิธีการบวงสรวงพญาแถนจึงได้เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามสืบสานให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานสืบไป

   

ด้านนายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย ประธานในพิธี กล่าวว่า การจัดงานประเพณีบุญเดือนหก หรือบุญบั้งไฟ ของเทศบาลตำบลนาจารย์นั้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 ประเพณีบุญอีสานให้สืบทอดคงอยู่สืบไปแล้ว ยังเป็นการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งรณรงค์ให้คนในท้องถิ่นตระหนักในคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่เป็นประเพณีโบราณเก่าแก่ของชาวอีสาน ที่ปัจจุบันหาดูยาก และนับวันจะเลือนหาย นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างความสามัคคี สร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนกับหน่วยงานราชการอีกด้วย ซึ่งอยากฝากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ให้อยู่สืบไป