กาฬสินธุ์เหม็นขี้หมูสุดทนเรียกร้องว่าที่นายกรัฐมนตรี “พิธา” ส่งคนมาร่วมแก้ปัญหา

ชาวบ้านถ้ำปลา ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ สุดทนกับกลิ่นเหม็นของขี้หมู ลั่น “ความเหม็นมีอำนาจทำให้คนเป็นหนี้” เรียกร้องให้ “พิธา” ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ส่งคนมาร่วมแก้ปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงหมูพันธสัญญา กับนายทุนที่มาชักชวนชาวบ้านร่วมลงทุน หวั่นเกษตรกรถูกลอยแพ แก้ปัญหาไม่จบ ติดหนี้ ธกส. ขณะที่สภาพอากาศภายในหมู่บ้าน ยังคงปกคลุมด้วยกลิ่นเหม็นของขี้หมู ถึงแม้จะติดตั้งม่านน้ำดูดซับกลิ่นเหม็นแล้วก็ตาม

 

จากกรณีชาวบ้านใน ต.สหัสขันธ์ และต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของขี้หมู ที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม โดยมีผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดหัวปวดประสาทและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข ขณะที่นายอำเภอสหัสขันธ์เรียกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหาทางออก เดทไลน์แก้ปัญหาระยะเร่งด่วนภายใน 2 สัปดาห์ และแก้ปัญหาทั้งระบบภายใน 2 เดือน ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น


ล่าสุด วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่บ้านถ้ำปลา หมู่ 3 และหมู่ 11 ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านยังคงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์และปรับทุกข์กัน ถึงปัญหาที่เกิดจากฟาร์มเลี้ยงหมู เนื่องจากการแก้ไขปัญหายังไม่เบ็ดเสร็จ ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูยังจะต้องกู้เงิน ธกส. อีกรายละ 400,000 บาท เพิ่มจากที่กู้รอบแรก 6,400,000 บาท รวมเป็นยอดเงินที่กู้ยืม ธกส.มาลุงทุนเลี้ยงหมูถึง 6,800,000 บาท หรือบางรายสูงถึง 8,000,000 บาท ซึ่งเป็นยอดหนี้ก้อนใหญ่ สร้างความตกอกตกใจให้กับคนเลี้ยงหมูและชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการลงทุนเลี้ยงหมูที่สูงมาก มากกว่าการประกอบอาชีพอื่นก็ว่าได้ ซึ่งหากเกิดปัญหาในระหว่างการเลี้ยง หรือมีเหตุติดขัด ไปต่อไม่ได้ จะไม่ติดหนี้ยาวนานถึงรุ่นลูกรุ่นหลานหรือ


นายหนูเดือน โคตะนนท์ อายุ 56 ปี หนึ่งในชาวบ้านถ้ำปลา ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นขี้หมูเหม็น และมีญาติเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกล่าวว่า สิ่งที่ชาวบ้านและผู้เลี้ยงหมูบ้านถ้ำปลาวิตกก็คือ การแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นจะจบสมบูรณ์หรือไม่ ในเมื่อทุกวันนี้ตนและชาวบ้าน ยังคงสูดกลิ่นเหม็นของขี้หมูแทนอากาศบริสุทธิ์มานานกว่า 2 เดือนแล้ว ถึงแม้ทางเอกชนและผู้ประกอบการเลี้ยงหมู จะบอกว่าแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นในระยะแรก โดยติดตั้งม่านน้ำและใช้สารจุลินทรีย์ดับกลิ่นแล้วก็ตาม แต่ความจริงกลิ่นเหม็นก็ยังคงมีอยู่ และยังสร้างความรำคาญให้กับชาวบ้านที่อยู่ใต้ทิศทางลม เพราะพอลมพัดมาจากทิศทางที่ฟาร์มเลี้ยงหมูตั้งอยู่ ก็จะพัดพากลิ่นเหม็นมาด้วย


นายหนูเดือนกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนที่ว่าการแก้ไขปัญหาระยะยาว ทั้งการฝังกลบบ่อบำบัดน้ำเสียและติดตั้งระบบไบโอแก๊ส หรือเปลี่ยนขี้หมูเป็นพลังงานเชื้อเพลิงนั้น จะมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะต้องกู้เงินจาก ธกส.เพิ่มอีก รวมจากที่กู้รอบแรก 6,400,000 บาท รวมเป็นยอดเงินที่กู้ยืม ธกส.มาลงทุนเลี้ยงหมูถึง 6,800,000 บาท ขณะที่บางคนกู้มาลงทุนถึง 8,000,000 บาทก็มี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าความเหม็นจะมีอำนาจทำให้คนเป็นหนี้มากขนาดนี้


“หากเกิดปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดในระหว่างการเลี้ยงหมู และไม่สามารถเลี้ยงหมูในรุ่นต่อๆไปได้ จะหาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ ธกส. โฉนดที่ดินที่นำไปหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนองกับ ธกส.จะไม่ถูกยึดหรือ จึงรู้สึกเป็นห่วงและวิตกทุกข์ร้อนไปกับญาติพี่น้องที่ร่วมลงทุนเลี้ยงหมูกับนายทุนเป็นอย่างมาก จึงอยากเรียกร้องไปยังคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ได้จัดคนมาพูดคุยกับทางบริษัทเอกชน ที่เป็นฝ่ายชักชวนชาวบ้านเลี้ยงหมูให้ชัดเจนสักที เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูถูกลอยแพ เนื่องจากการแก้ปัญหายังไม่จบ ทั้งยังให้คนเลี้ยงหมูมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย” นายหนูเดือนกล่าวในที่สุด