วธ.เผยผลโพลวันมาฆบูชา ปี 2565

วธ.เผยผลโพลวันมาฆบูชา ปี 2565 ร้อยละ 66.61 เห็นว่ามีความสำคัญเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” ร้อยละ 43.35 อยากตักบาตรมากที่สุด รองลงมาทำบุญ ทำทานและลด ละ เลิก อบายมุข  ส่วนใหญ่แนะจัดกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19

 

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนที่มีต่อวันมาฆบูชา ปี 2565  (16 กุมภาพันธ์ 2565) จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 6,651 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค โดยมีผลสรุปดังนี้ เด็ก เยาวชนและประชาชน ร้อยละ 66.61 เห็นว่า วันมาฆบูชามีความสำคัญคือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน 3  รองลงมาร้อยละ 62.98 เป็นวันพระสงฆ์ล้วนเป็นพระอรหันต์มาชุมนุมพร้อมกัน 1,250 รูป โดยมิได้นัดหมาย ร้อยละ 54.19 มีการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้บริสุทธิ์  อีกทั้งผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 43.35 สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันมาฆบูชาในปีนี้ รองลงมาร้อยละ 39.87 ไม่แน่ใจแล้วแต่โอกาส และร้อยละ 16.78 ไม่สนใจเข้าร่วมเนื่องจากกลัวติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ไม่อยากออกจากบ้าน  ไม่มั่นใจในมาตรการป้องกันโควิด-19 เป็นต้น

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามถึงกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชาที่สนใจอยากเข้าร่วม 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ตักบาตรพระสงฆ์ อันดับ 2 ทำบุญ ทำทาน อันดับ 3 ลด ละ เลิก อบายมุข อันดับ 4 ฟังพระธรรมเทศนาและอันดับ 5 เวียนเทียน ส่วนรูปแบบการจัดกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ตอบแบบสอบถามระบุอันดับ 1 จัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์  และอันดับ 2 จัดกิจกรรมทั้งรูปแบบปกติและรูปแบบออนไลน์ควบคู่กัน  ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสอบถามในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชนตั้งใจนำหลักธรรมมายึดถือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ได้แก่ อันดับ 1 สติ อันดับ 2 ศีล 5 อันดับ 3 อริยสัจ 4  ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)  อันดับ 5 อิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) และอันดับ 5 พรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจได้สอบถามถึงวิธีจูงใจให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันมาฆบูชามากขึ้น 5  อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 พ่อ แม่/ปู่ย่า ตายาย/ญาติ พี่น้อง พาลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรมวันมาฆบูชา อันดับ 2 หน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน และคณะสงฆ์ บูรณาการการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในมิติทางศาสนา โดยดำเนินกิจกรรมฯ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  อันดับ 3 ผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อันดับ 4 เปิดแหล่งเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมหรือเรียนรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยีออนไลน์ และอันดับ 5 นำศิลปินดารา บุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมรณรงค์/เชิญชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามได้มีแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรม/ประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่ควรสืบสานรักษาไว้ให้คงอยู่คู่สังคมไทย  เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ  ประเพณีและวัฒนธรรมในวันสำคัญของชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์  บุญประจำประเพณี  เทศกาลต่างๆของท้องถิ่นและชาติ อาทิ สารทเดือนสิบฮีตสิบสองที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเพณีและวัฒนธรรมประจำชาติของพุทธศาสนิกชนคนไทย รวมทั้งการจัดกิจกรรมทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน ฟังธรรม เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
เขียนข่าว: ผศ.ดร พิมพาภรณ์ วงศ์เตชะนนท์