“ปนป.11 กลุ่มเสือ” ผุด โครงการ “สัมผัสแทนสายตา สู่การพัฒนาอย่างเท่าเทียม”ยกระดับ “สื่อภาพนูน” สู่คุณภาพชีวิตผู้พิการทางการมองเห็น

“ปนป.11 กลุ่มเสือ” ผุด โครงการ “สัมผัสแทนสายตา สู่การพัฒนาอย่างเท่าเทียม”ยกระดับ “สื่อภาพนูน” สู่คุณภาพชีวิตผู้พิการทางการมองเห็น

 


คณะนักศึกษาหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย ปนป.11 กลุ่มเสือ ใน สถาบันพระปกเกล้า จัดทำโครงการ “สัมผัสแทนสายตา สู่การพัฒนาอย่างเท่าเทียม” เพื่อร่วมกันให้ความช่วยเหลือ และแบ่งปันทรัพยากร นำมาซึ่งการจัดการอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้สอนในการผลิตสื่อภาพนูน (Tactile Taxture) อันเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและสื่อการสอน ที่จะช่วยให้ผู้เรียนซึ่งเป็นผู้พิการทางการเห็น สามารถมองเห็นภาพและเข้าใจเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในประเทศไทย ทำให้ผู้พิการทางการเห็นได้รับผลกระทบอย่างมากขาดโอกาสทางการประกอบอาชีพ

และการรับการศึกษาในช่วงระยะเวลาที่ภาครัฐและเอกชนต้องกำหนดนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งโครงการนำร่องยกระดับศักยภาพผู้พิการทางการเห็นด้วยสื่อภาพนูน จัดในระหว่างวันที่ 21-23 มกราคมที่ผ่านมา ณ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมงาน ได้แก่ นายประสงค์ สุบรรณพงษ์ ผอ.โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ, นายต่อพงศ์ เสลานนท์ อดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, นายขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์, นางกรกนก ศิริวงษ์ รอง ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ, ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รอง ผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล(DEPA), รศ.ดร.ธัญลักษณ์ วีระสมบัติ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,

นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และ นายกิตติพงษ์ เอื้อพิพัฒนากูล ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ ทั้งนี้โครงการ “สัมผัสแทนสายตา สู่การพัฒนาอย่างเท่าเทียม” คณะนักศึกษาหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 11 กลุ่มเสือ นำโดย ผศ.ทพญ.วรณัน ประพันธ์ศิลป์, ร.ต.อ.ณัฏฐพงษ์ อินทร์ศร และคณะนักศึกษา ตั้งเป้าประสงค์จะใช้ประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาในหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้ามาปรับประยุกต์และประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอน อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการศึกษาและเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย
สำหรับโครงการนำร่องยกระดับศักยภาพผู้พิการทางการเห็นด้วยสื่อภาพนูน ได้มีการคัดเลือกโรงเรียนเป้าหมายจำนวน 10 โรงเรียน โรงเรียนละ 2 ท่าน เพื่อได้รับความรู้และนำไปพัฒนาต่อยอดในการปฎิบัติหน้าที่ ณ หน่วยงานเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้พิการทางสายตาในช่วงวัยต่างๆ โดยมีบุคลากรครูเข้าร่วมรับการอบรมทั้งหมดจำนวน 12 แห่ง ดังนี้


1. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ขอนแก่น
2. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด นครราชสีมา
3. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดร้อยเอ็ด
4. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดร้อยเอ็ด
5. โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรี
6. โรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อนชะอำ
7. โรงเรียนธรรทิกวิทยา
8. โรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา


9. โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
10. โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
11. โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
12. โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งยังได้รับความสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อาทิ มูลนิธิธรรมิกชน, เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสายตรวจ กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ได้นำข้าวสาวอาหารแห้งมาบริจาคให้กับตัวแทนโรงเรียนที่ได้เข้าร่วมอบรมปฏิบัติการณ์
ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคแพร่ระบาดโควิด-19 ของภาครัฐอย่างเคร่งครัด เช่น การขอผลการเข้ารับการฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรองหาเชื้อทาง ATK การสวมใส่หน้ากากอนามัย และ การเว้นระยะห่าง ตลอดการจัดการอบรมทั้ง 3 วัน