มรภ.สงขลา เดินหน้าอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง สร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชน พร้อมจัดทำบัญชีชนิดพันธุ์พืช

มรภ.สงขลา เดินหน้าอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง สร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชน พร้อมจัดทำบัญชีชนิดพันธุ์พืช

 


“อพ.สธ.” มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ ต.ทุ่งหวัง จับมือองค์กรพันธมิตรเดินหน้าอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ตอนล่าง หวังสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชน พร้อมจัดทำบัญชีชนิดพันธุ์พืชหายาก พืชคุกคาม พืชเฉพาะถิ่น พืชสมุนไพร เปิดให้เยาวชนและผู้สนใจเรียนรู้ความหลากหลายทางพันธุกรรม
คณะอนุกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดกิจกรรมที่ 1 อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การถ่ายทอดความรู้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองสู่ชุมชน

ณ กลุ่มนาข้าวบ้านสวนใต้ ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ภายใต้โครงการ การรวบรวม ขยายพันธุ์ และจัดทำบัญชีชนิดพันธุ์พืชหายากใกล้สูญพันธุ์ พืชคุกคาม พืชเฉพาะถิ่น พืชสมุนไพร และพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในภาคใต้ตอนล่าง วัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริภายใต้โครงการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี ผศ.ดร.สายฝน ไชยศรี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา กล่าวเปิดงาน และได้ร่วมกันลงพื้นที่กลุ่มนาข้าวบ้านสวนใต้ เพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจากรวง


สำหรับวิทยากรให้ความรู้นำทีมโดย ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน คณะเทคโนโลยีการเกษตร ดร.เบญจวรรณ ยันต์วิเศษภักดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งได้เชิญวิทยากร นายบุญนะ หนูคง นางสาวกัลยา ราชบุตร นักวิชาการเกษตรจากศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี และ นายนิคม อุไรรัตน์ นายก อบต.ทุ่งหวัง ร่วมเสวนาและให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองแก่กลุ่มเกษตรกร ซึ่งกิจกรรมนี้ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสงขลา ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี กลุ่มเกษตรกรนาข้าวบ้านสวนใต้ กลุ่มจะนะแบ่งสุข คณะวิทยาการจัดการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีการเกษตร และหน่วยเครื่องมือกลาง สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา


ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อพ.สธ. มรภ.สงขลา ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในชุมชน การคัดเลือกพันธุ์โดยเกษตรกรมีส่วนร่วม ต่อด้วยการปลูกขยายพันธุ์ในแปลงนาอนุรักษ์ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้แก่เยาวชนและผู้สนใจ

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

——————————————————————-