ร้อยเอ็ด…พร้อมแล้ว70เปอร์เซ็นต์…วัดดังเมืองร้อยเอ็ดฯ สืบสานประเพณีบุญคูณลานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ร่วมใจสร้าง “เจดีย์รวงข้าว”

บุญคูณลาน บุญกุ้มข้าวใหญ่ หรือฮีตเดือนยี่ เป็นการทำบุญและทำพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวของชาวอีสาน หลังจากชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็จะนำข้าวมานวด และนำกองรวมกัน เรียกว่าบุญคูณลาน จากนั้นนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนบุญกุ้มข้าวใหญ่ ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมากองรวมกันเป็นกุ้ม (กองเป็นพะเนินสูง) ลานวัดสันติวิหารร้อยเอ็ด นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ รับศีล ฟังเทศน์ มีมหรสพสมโภช แล้วถวายข้าวเปลือกให้เป็นสมบัติของวัด ชาวบ้านเชื่อว่าจะได้กุศลแรง

วันนี้( 14 มกราคม 2565) เวลา17.00 น.เป็นต้นไป ที่วัดสันติวิหาร บ้านธวัชดินแดง ต.ธงธานี อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเตรียมจัดงาน “สืบสานประเพณีถวายพระเจดีย์ข้าวเปลือก (บุญกุ้มข้าวใหญ่) ประจำปี 2565 ” พบพระสงฆ์และชาวบ้าน ช่วยกันประดิษฐ์เจดีย์รวงข้าว สีทองเหลืองอร่ามกลางลานวัดและชาวบ้านผู้หญิงต่างทะยอยนำรวงข้าวขึ้นตกแต่งตามโครงสร้างของเจดีย์ ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายก็พากันเก็บรายละเอียดโครงสร้างของเจดีย์ให้สมบูรณ์ที่สุดส่วนพระสงฆ์ก็ช่วยกันผ่าและเหลาไม้ไผ่เพื่อใช้ประกอบโครงสร้างของเจดีย์เป็นภาพของความสมัครสมานสามัคคีที่น่าชื่นชมยิ่งนักของคนที่ผ่านไปผ่านมาได้มาประสพพบเจอทั้งชาวบ้านพระสงฆ์ต่างร่วมแรงรวมใจกันคนละไม้คนละมือโครงสร้างขององค์เจดีย์จึงได้สำเร็จตามภาพที่ได้เห็น


พระครูปริยัติวรศาสน์(พระมหาชำนิ) เจ้าคณะตำบลธงธานี อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ผู้นำกิจกรรม กล่าวว่า การสร้างเจดีย์รวงข้าว เพราะต้องการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรม ตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ ของชาวอีสานเดือนอ้าย-เดือนยี่ ชาวบ้านจะทำบุญคูณลาน บุญกุ้มข้าวใหญ่ ซึ่งปัจจุบันไม่มีบุญคูณลานหรือมีก็น้อยมากเพราะใช้รถเกี่ยวข้าวและสีข้าวเลย จึงต้องการรื้อฟื้นประเพณี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ ว่าสมัยก่อนพ่อแม่เคยทำแบบไหน จึงชวนพระและชาวบ้านมาทำให้เป็นรูปทรงเจดีย์ เผื่อจะเป็นประโยชน์ เป็นวัฒนธรรมแบบชาวอีสาน ให้ได้มากราบไหว้ระลึกถึงพระคุณแม่โพสพ ซึ่งมีพระคุณเลี้ยงชีวิตชาวโลกมา


หากมีโอกาสมาเที่ยว ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด(ท้องฟ้าจำลอง) ปรางค์กู่ ปราสาทขอมที่อำเภอธวัชบุรี ก็แวะมาเที่ยวชมเจดีย์รวงข้าวที่วัดสันติวิหารร้อยเอ็ดได้วัดเราทำตามมีตามเกิด การสร้างเจดีย์รวงข้าวสร้างด้วยใจบริสุทธิและความศรัทธา พอเพียงและเพียงพอตามหลักปรัชญาของพ่อหลวงร.9เป็นที่ตั้ง อีกประการหนึ่งวัดสันติวิหารฯเราโชคดีที่ได้พระนักคิดแนวสร้างสรรค์อย่างหลวงพ่อพระครูวรธรรม ไชยสุนทร ท่านเจ้าอาวาสวัดบ้านขามใต้ ต.บึงนคร อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ดท่านอนุเคราะห์เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดสร้างเจดีย์รวงข้าวร่วมกับญาตโยม ศรัทธาวัดสันติวิหารร้อยเอ็ดในครั้งนี้


พระครูปริยัติวรศาสน์พระมหาชำนิ)กล่าวต่ออีกว่า งานประเพณี “สืบสานประเพณีถวายพระเจดีย์ข้าวเปลือก (บุญกุ้มข้าวใหญ่) ประจำปี 2565 ของวัดสันติวิหารร้อยเอ็ด” จะจัดในวันที่ 16-17 มกราคม 2565 ก็ขอเชิญชวนลูกหลานชาวบ้านธวัชดินแดงและใกล้เคียง มาเที่ยวประเพณีอีสานบ้านเรา เพื่อไม่ให้กิจกรรมที่ดีงามเลือนหายไปจากประเพณีวัฒนธรรมอีสาน โดยวันที่ 16 มกราคม 2565 จะมีการบวงสรวงเปิดงานเจดีย์รวงข้าวโดยลูกหลานจิตอาสาวิทยาลัยนาฎศิลปร้อยเอ็ด มีกิจกรรมประกวดร้องเพลง -กิจกรรมวาดภาพระบายสี ของลูกหลานและเยาวชนชาวบ้านธวัชดินแดง -กิจกรรมสมโภชรื่นเริงโดยศิลปินลูกทุ่งหมอลำสมจิตร บ่อทองและศิลปินชาวบ้านผสมผสานอย่างเรียบง่ายและลงตัว และมีโรงทานจากศรัทธาบุญทั้งวันภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดไวรัสโคโรน่า(โควิด-19)อย่างเคร่งคัดการ์ดไม่ตกทางวัดคำนึงถึงเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ


อนึ่งการสร้างเจดีย์รวงข้าว ได้มีชาวบ้านในตำบลธงธานี บ้านธวัชดินแดง และอีกหลายหมู่บ้านนำรวงข้าวมาบริจาคถวายวัดอีกทั้งบางครอบครัวก็ถวายข้าวทั้งแปลงนาให้ทางวัดและชาวบ้านได้ลงแขกเกี่ยวข้าวเพื่อจะนำรวงข้าวที่ได้มาสร้างเจดีย์รวงข้าว หลังเสร็จงานแล้วรวงข้าวส่วนหนึ่งจะให้ชาวบ้านนำไปบูชา เพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนข้าวที่เหลือจะนำไปสีแจกให้ผู้ยากจน และใช้ในกิจกรรมทางพุทธศาสนาของทางวัดต่อไป
ด้าน นายทองมา สุบิน อายุ49 ปี ชาวบ้านธวัชดินแดงที่มาช่วยงานทางวัดเป็นประจำและครั้งนี้ได้เป็น1ในทีมช่างจิตอาสาทำโครงสร้างเจดีย์รวงข้าวเปิดเผยว่า ฐานเจดีย์รวงข้าวเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 6.30 เมตร สูงจากฐานถึงยอดฉัตร 12 เมตร ส่วนรวงข้าว หรือฟ่อนข้าว ชาวบ้านนำมาทำบุญบริจาคกว่า 1 หมื่นกว่าฟ่อน และนำมาคัดเลือกเอารวงข้าวที่สมบูรณ์ เพื่อนำมาประดับเจดีย์รวงข้าว


สิ่งที่ได้จากการจัดงาน สืบสานประเพณีถวายพระเจดีย์ข้าวเปลือก (บุญกุ้มข้าวใหญ่) ประจำปี 2565 วัดสันติวิหารร้อยเอ็ด ไม่ว่าจะเป็นการบริจาครวงข้าว ทั้งจตุปัจจัยจากศรัทธาใกล้ไกลที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด(ไวรัสโคโรน่า-19)ปัจจัยเหล่านั้นจะนำมาปฏิสังขร บูรณะวัดวาอาราม และยังเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้พระแม่โพสกที่ดูแลข้าวปลาอาหาร สิ่งสำคัญที่สุดคือความสามัคคีของคนในชุมชน ซึ่งทั้งชาวบ้าน วัด ได้จัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสมัครสามัคคีของคนในชุมชน
ช่วงท้ายนายชัยวัฒน์ เงิมสันเทียะ อายุ57 ปี โยมอุปัฏฐากวัดสันติวิหารร้อยเอ็ด เผยว่าสำหรับมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นทางวัดสันติวิหารฯและผู้นำชุมชนได้จัดเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่จะเข้าร่วมงานฯทุกคน ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ การสวมหน้ากากอนามัย และมีเจลล้างมือไว้บริการ ไม่อนุญาตให้ญาติโยมที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม ป้องกันโรคระบาดไวรัสโควิด-19เข้าภายในบริเวณจัดงาน(ภายในวัด)เด็ดขาด อีกทั้งยังได้เตรียมเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลไว้ภายงานอีกด้วย

โกสิทธิ์/ร้อยเอ็ด(ห)
087-864-4400