Breaking News

สำนักงานศาลยุติธรรมร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทำบันทึกข้อตกลงดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติด

สำนักงานศาลยุติธรรมร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทำบันทึกข้อตกลงดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติด

 

วันนี้ (30 มกราคม 2563) ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก สำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน
และปราบปรามยาเสพติด ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติดในระบบศาล เพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ บำบัด และฟื้นฟู คืนคนดีกลับสู่สังคม ในการนี้ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม นายดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นสักขีพยานนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ยึดหลักนิติธรรมในการปราบปราม ลงโทษผู้ผลิต ผู้ค้า
และยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม ซึ่งที่ผ่านมาศาลยุติธรรมตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้นำคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมมาใช้ในศาลยุติธรรมเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู บำบัด ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนหรือชั้นการพิจารณาของศาล ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ พฤติกรรม และความประพฤติให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ หรือไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งได้เริ่มใช้ในศาลอาญาธนบุรีเป็นศาลแรก


เมื่อปี 2552 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ต่อมาคณะกรรมการของวุฒิสภาได้เยี่ยมชมคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในศาลอาญาธนบุรีและต้องการให้ขยายไปยังศาลต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของการริเริ่มให้รัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม ให้งบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในการนี้ เพื่อเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานของทุกภาคส่วน ลดระดับปัญหายาเสพติดโดยเร็ว สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

จึงได้ร่วมกันพัฒนาระบบให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล เพื่อดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดียาเสพติด ลดโอกาสสำหรับผู้กระทำผิดไม่ร้ายแรงที่อาจจะแปรสภาพ/เป็น…
เป็นอาชญากร ลดการกระทำผิดซ้ำ ฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้แก่ผู้ติดยาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ การดำเนินงานโดยความรับผิดชอบของศาลจะเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เข้าร่วมโครงการจะได้อยู่ในกระบวนการให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมนั้น เป็นการให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้ารับคำปรึกษา ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือคดีที่มีอัตราโทษไม่ร้ายแรง หรือคดีอื่นตามที่อธิบดี/ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเห็นสมควรประกาศกำหนด


เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานศาลยุติธรรม จะเป็นศูนย์กลางในการขยายผลการดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมไปยังศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีอาญา ปรับปรุงและพัฒนาข้อกฎหมายเพื่อให้ศาลมีอำนาจในการจัดบริการคลินิกให้คำปรึกษา
ด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติดในระบบศาล ให้คำแนะนำ ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงาน และการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ ตลอดจนการเผยแพร่องค์ความรู้แก่ศาลที่ประสงค์จะดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม รวมทั้ง พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินผลการดำเนินงาน โดยให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อตรวจสอบผลการกระทำผิดซ้ำ และเป็นหน่วยงานหลักในการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมสู่สาธารณชน ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมมีเป้าหมายในการขยายการดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมให้ครอบคลุมการทำงานทั่วประเทศ โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานภายใน 3 ปี (พ.ศ.2563 – 2565) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในช่วงวิกฤติของชีวิต อันจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ